บทที่1 บทนำ

บทที่  1
บทนำ

1.1 ความสำคัญและความเป็นมาของโครงการ
            จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  ให้เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศ  โดยกำหนดจุดมุ่งหมาย  และมาตรฐานการเรียนรู้  ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี  มีปัญญา  มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับเวทีโลก  พร้อมกันนี้ได้ปรับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์  แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่นและสถานศึกษาได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
                จากการติดตามประเมินผลในการใช้หลักสูตรในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  พบว่า  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  นั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ  แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง  เช่น  ปัญหาความสับสนของ         ผู้ปฏิบัติในระดับสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  สถานศึกษาส่วนใหญ่กำหนดสาระและผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้มาก  จนทำให้เกิดปัญหาหลักสูตรแน่น  การวัดและประเมินผลไม่สะท้อนตามมาตรฐาน  ส่งผลต่อปัญหาการจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษาและการเทียบโอนผลการเรียน  รวมทั้งปัญหาคุณภาพของผู้เรียนในด้านความรู้  ทักษะ  ความสามารถ  และลักษณะที่พึงประสงค์อันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ  นอกจากนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 10  ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนจุดเน้นในการพัฒนาคุณภาพคนในสังคมไทยให้มีคุณธรรม  และมีความรอบรู้อย่างเท่าทัน  ให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  และศีลธรรม  สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลง  เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง  อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน
                จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  เป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551   ที่มีความเหมาะสม  ชัดเจน  ทั้งเป้าหมายของหลักสูตรในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์  จุดหมาย  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจน  อีกทั้งได้ปรับกระบวนการวัดและประเมินผล  เกณฑ์การจบการศึกษาแต่ละระดับ  และเอกสารแสดงหลักฐานทางการศึกษา  ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้  และมีความชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติ  เอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 นี้  จัดทำขึ้นสำหรับท้องถิ่นและสถานศึกษาได้นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  และการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพด้านความรู้  และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง  และแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
                โรงเรียนอนุบาลสงขลา  ตำบลบ่อยาง  อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา  เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างโรงเรียนที่ได้มีการปรับปรุง  เปลี่ยนแปลงหลักสูตรสถานศึกษาที่มีอยู่เดิมแล้ว  ให้มีความสอดคล้องรับกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551  และมีความทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกขณะ  โรงเรียนอนุบาลสงขลา  เป็นโรงเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาที่มีชื่อเสียงในระดับต้นๆ  ของจังหวัดสงขลาได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง   และได้รับให้เป็นโรงเรียนนำร่องในการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  อีกทั้งโรงเรียนอนุบาลสงขลายังได้ประสบผลสำเร็จในการจัดระบบการศึกษาในหลายๆ ด้าน อาทิ เช่น ในด้านวิชาการ ได้มีการเข้าร่วมส่งตัวแทนนักเรียนแข่งขันทักษะทางวิชาการ  การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านภาษาจากอาจารย์เจ้าของภาษาเอง  ในด้านกิจกรรมกีฬามีการสนับสนุนให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมและเข้าร่วมแข่งขันอย่างมากมาย  เช่น  ฟุตซอล  ว่ายน้ำ         แชร์บอล  เป็นต้น  และในด้านของการใช้เทคโนโลยีได้ฝึกประสบการณ์ตรงจัดเป็นรายวิชาให้นักเรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์กันทุกคน ในการวัดการประเมินผลนักเรียนของโรงเรียนอนุบาลสงขลาผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ  นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบเข้าเรียนต่อได้ในโรงเรียนชั้นนำหลายสถาบัน  ทั้งหมดนี้จึงเป็นการยืนยันได้ถึงผลสำเร็จของโรงเรียนอนุบาลสงขลาได้อย่างเต็มภาคภูมิ
                ทางคณะผู้จัดทำได้มองเห็นถึงผลสำเร็จของโรงเรียนอนุบาลสงขลาที่ประจักษ์ให้คนทั่วไปได้ทราบกันนี้  จึงมีความต้องการที่จะศึกษาตัวหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา  กระบวนการหรือวิธีการพัฒนาหลักสูตร  และการปรับประยุกต์หลักสูตรให้มีความเหมาะสมกับทางสถานศึกษา  บริบททางสังคม  และตัวผู้เรียน  เพื่อจะได้นำไปศึกษาเปรียบเทียบดูถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 ต่อไป

1.2 วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อศึกษาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา  ตำบลบ่อยาง  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา  รวมไปถึงกระบวนการและวิธีการในพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา  โดยการนำเอาแม่แบบหลักสูตรแกนกลางการศึกษา   ขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 มาเป็นแบบแผนในการปฏิบัติและแนวทางการปรับประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมกับทางสถานศึกษา บริบททางสังคม และตัวผู้เรียน

   
    ขอบเขตของการวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้คณะผู้จัดทำได้กำหนดขอบเขตของการวิจัยไว้ดังนี้
    - หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
    - กระบวนการ/วิธีการในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา
    - แนวทาง/วิธีการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา

       วิธีการดำเนินการ
                1.ทางคณะผู้จัดทำประชุมกลุ่มเพื่อหารือและเลือกโรงเรียนที่จะทำการศึกษาตัวหลักสูตรสถานศึกษา
                2.สรุปผล ลงมติ และได้เลือกโรงเรียนอนุบาลสงขลาในการทำการศึกษาตัวหลักสูตรสถานศึกษา พร้อมนำเสนอต่ออาจารย์ประจำวิชา
                3.ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา และบริบท/ลักษณะของชุมชน ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาหลักสูตร สถานศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป
                4.ลงสำรวจสถานศึกษา รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสงขลา และมีการจดบันทึก ใช้แบบสัมภาษณ์เรื่อง “หลักสูตรสถานศึกษาและกระบวนการพัฒนาหลักสูตร”   อีกทั้งบันทึกภาพวิดีทัศน์   ภาพถ่าย   แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสรุปผล
                5.จัดทำในส่วนของสื่อการนำเสนอ (Power Point) เพื่อนำเสนอต่อหน้าชั้นเรียน
                6.นำเสนอรายงานวิจัยหน้าชั้นเรียนให้แก่อาจารย์ประจำวิชา และเพื่อนๆนักศึกษา
                7.จัดทำในส่วนของเนื้อหางานวิจัย เพื่อนำเสนอผลงานการวิจัยในระบบ Social Network

           ประโยชน์ที่คิดว่าจะได้รับ
1.ได้เห็นถึงตัวหลักสูตรสถานศึกษาที่สมบูรณ์ของโรงเรียนอนุบาลสงขลา
                2.ได้เห็นถึงกระบวนการ/วิธีการในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา ที่ยึด   แบบแผนจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
                3.ได้เห็นถึงแนวทาง/วิธีการการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลสงขลา ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพกับผู้เรียนสูงสุด
               
        นิยามศัพท์เฉพาะ
                  โรงเรียนอนุบาลสงขลา  หมายถึง  ชื่อของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง  ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา  เลขที่  36 ถนนรามวิถี  ตำบลบ่อยาง  อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา  เป็นโรงเรียนที่เปิดทำการสอนในระดับอนุบาล 1จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   และเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในระดับต้นๆ ของจังหวัดสงขลา
                  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551   หมายถึง หลักสูตรแม่แบบที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้ยึดเป็นหลักสูตแกนกลางของประเทศ ที่มีการพัฒนามาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544